Site icon Poramet.com

On-Site และ Off-Site หัวใจของการทำ SEO

งานด้าน SEO ต้องทำอะไรบ้าง ? งานหลักมีอยู่สองอย่าง คือ On-Site (On Page) และ Off-Site (Off Page) ช่วยให้ Search Engine (ในไทย Google เกิน 90%) จัดอันดับคอนเทนต์และเว็บคุณในอันดับที่ดียิ่งขึ้น

ตามความหมายใน SEO ยุคใหม่ (Modern SEO) นิยามได้ดังนี้

On-site SEO (On Page SEO): เทคนิคที่ทำให้เว็บไซต์คุณ เป็นมิตรกับ Google

Off-site SEO (Off Page SEO): วิธีการโปรโมทเว็บไซต์คุณ ให้เป็นที่รู้จัก อันดับดียิ่งขึ้น

บางคนอาจสงสัยว่าไม่เหมือนที่เคยได้ยิน On-Site = Content?, Off-Site = Link Building? หรือนิยามเก่าที่พูดกันติดปากว่า Content is King, Distribution is Queen (หรือ King Kong) ลองดูในหัวข้อต่อไป

Table of Contents

Toggle

On-site SEO

On-site SEO (On Page SEO) ช่วยปรับให้เว็บไซต์คุณตรงตามกฎของ Google ซึ่งจะทำให้เว็บไซต์คุณถูกใจผู้เข้ามาชมมากที่สุด อย่าง เปิดเว็บไซต์เร็ว เนื้อหาชัดเจน น่าอ่าน โครงสร้างเว็บชัดเจน ส่งผลให้เหมาะสมที่จะอยู่ในอันดับสูงของการค้นหาผ่าน Google

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้น เว็บไซต์คุณอาจไม่ได้อันดับสูงขึ้นทันทีจากการปรับแต่งเนื้อหาในเว็บ แต่เว็บไซต์คู่แข่งที่ไม่เป็นมิตรกับผู้ชม (และกูเกิ้ล) ส่วนใหญ่ไม่เหมาะที่อยู่ในอันดับที่สูงของการค้นหา (เท่ากับว่า คุณชนะคู่แข่งได้)

เมื่อก่อน เข้าใจกันว่า On-site SEO เป็นการควบคุมคีย์เวิร์ดและความยาวของเนื้อหาให้เหมาะสม จนถูกใจพวก Search Engine แต่ปัจจุบันต้องมีอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้น เพราะ Google เข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้กูเกิล

ยกตัวอย่าง ผมเขียน “บทความ SEO” สิ่งที่ตัดสินได้ว่า บทความผมควรอยู่อับดับต้นๆ คือ ผู้ชมควรจะได้สิ่งที่ค้นหาในย่อหน้าแรกๆ, สนใจที่อ่านต่อจนจบ หรืออาจหาอย่างอื่นในเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องอ่านต่อ อัลกอริธึมของ Google เข้าใจพฤติกรรมของผู้เข้าชม ดังนั้น ถ้าผู้ชมถูกใจ อันดับสิ่งที่ผมเขียนควรจะติดอันดับต้นๆ ในการค้นหาของคีย์เวิร์ด

ในทางกลับกัน ผมลงรูปหรือโฆษณาเยอะ จนเว็บโหลดช้า, URL เข้าใจยาก, เขียนร่ายยาวแต่เนื้อหาไม่เกี่ยวกับที่คนอ่านต้องการ, เข้าผ่านมือถือแล้วอ่านยาก, คนกดเข้ามาแล้วออกจากเว็บ, กดลิงค์แล้วขึ้นหน้า 404 ฯลฯ จะเป็นการส่งสัญญาณให้กูเกิ้ลเข้าใจว่า เว็บนี้ไม่ดีพอที่จะได้อยู่อันดับต้นๆ ของ Google

อัลกอริทึม ของ Google ก็เหมือนหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เข้าใจเพียง Code ในมุมมองของคอมพิวเตอร์เท่านั้น ดังนั้น สิ่งที่ตัดสินว่าเว็บคุณเจ๋งได้ดีที่สุด คือ “คน” ที่สนใจบทความคุณ ซึ่งเป็นตัวตัดสินที่กูเกิลมาใช้ตัดสินอันดับของคอนเทนต์คุณได้อย่างมีคุณภาพมากสุด

ดังนั้น ท่องไว้ว่า บทความที่ใช้ SEO เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ถูกหลักของ Google และทำให้คนอ่านพอใจเป็นสำคัญ

Off-site SEO

แก่นของการทำ Off-site SEO (Off Page SEO) เพื่อบอกให้โลกรู้ว่า เว็บไซต์หรือคอนเทนต์เรา มีสิ่งที่พิเศษกว่าเว็บไซต์อื่นมี เมื่อมีคนพอใจมากขึ้นจากการค้นหา อันดับก็ควรจะอยู่ต้นๆ ของการค้นหาตามคีย์เวิร์ดที่กำหนด

เมื่อก่อน เข้าใจกันง่ายๆ ว่า Off-site SEO เป็นการทำ Link Building ฝากลิงค์ตามเว็บไซต์ เน้นปริมาณลิงค์ที่ฝากเพื่อให้บอทของกูเกิลพบในหลายเว็บ จะได้อันดับสูง แต่ไม่ดีพอสำหรับยุคปัจจุบันเพราะ Search Engine พัฒนาตนเองขึ้นเรื่อยๆ เข้าใจความแตกต่างระหว่างการฝากลิงค์ (ซื้อลิงค์) กับ ลิงค์ที่มีคุณภาพ ดังนั้นต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่

ลิงค์คุณภาพ คือ การที่มีคนอ้างอิงถึงเว็บไซต์เราในทางที่ดี ยิ่งเป็นเว็บใหญ่อ้างถึง ยิ่งน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะเว็บที่ใหญ่ยิ่งกว่าและอยู่ในวงการเดียวกัน

ตัวอย่าง คุณเป็นนักแสดง (คอนเทนต์) จ้างหน้าม้า (ลิงค์ไม่มีคุณภาพ) นับพันคนมาบอกว่าคุณเก่ง ก็ไม่น่าเชื่อถือ เพราะคนที่คุณจ้างแทบไม่มีใครรู้จัก แต่ถ้าศิลปินมีชื่อเสียง (ลิงค์คุณภาพ) ในวงการมาชมคุณออกสื่อ ความน่าเชื่อถือเพิ่มเป็นทีวีคูณ

คำถามต่อมา ถ้ายัดเงินศิลปินมีชื่อเสียง (ซื้อลิงค์คุณภาพ) ? แน่นอนว่าได้คำชมเหมือนกัน แต่ด้านคุณภาพจะต่างกัน ยิ่งถ้าคุณไม่ดีพอสำหรับผู้ชม (คอนเทนต์ไม่มีคุณภาพ) อันดับคุณก็จะร่วง

ถึงตรงนี้อาจจะพอเข้าใจบ้าง ว่าตัวแปรสำคัญสุด คือ สิ่งที่คุณจะนำเสนอ ดีพอหรือไม่ ดังนั้น การทำลิงค์ไม่ค่อยมีคุณภาพ อาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับเว็บเล็กที่ไม่สามารถผลิตคอนเทนต์มีคุณภาพมากนักได้

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ คุณเป็นนักแสดง (คอนเทนต์มีคุณภาพ) มีเพื่อนสนิทไปบอกแบบปากต่อปากว่าคุณเก่ง (ลิงค์ไม่ค่อยมีคุณภาพ) ล่ะ ? แน่นอนว่าจะมีผลในระดับหนึ่ง เพราะคนที่เข้ามาชมเว็บแล้วพอใจ ก็ย่อมมี ตามกลไกของสังคม

นิยามเก่าแบบ Content is King, Distribution is Queen (หรือ King Kong) ยังคงใช้ได้เสมอในยุคปัจจุบัน เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจว่า แก่น SEO คือ ทำคอนเทนต์ให้คนอ่าน ไม่ใช่ให้ Google อ่าน

Exit mobile version