Semantic SEO (ซีเมนทิก เอสอีโอ) แปลตรงตัว “การทำ SEO อย่างมีความหมาย” ถ้าให้กระชับมากขึ้น คือ การทำ Search Engine Optimization ที่มีคุณภาพ ถูกใจคนอ่าน และให้บอทถูกใจ
เหตุผลที่ Semantic SEO เข้ามามีบทบาท คือ การทำ SEO แบบเดิมๆ เริ่มไร้ผลอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ระบบ Machine Learning Algorithm เริ่มมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามการปรับปรุงข้อมูลเสมอ ถ้าไม่ปรับตัวตามความฉลาดของ AI คุณก็อยู่ในวงการนี้ไม่ได้
อะไร คือ Semantic SEO ?
Semantic SEO จะเป็นการปรับแต่งบทความให้มีความสัมพันธ์กัน เลือกใช้คีย์เวิร์ดหรือวลีที่ความหมายคล้ายกันแทนการย้ำคีย์เวิร์ด เพื่อนำไปสร้างบทความที่มีคุณภาพต่อผู้อ่าน ตรงกับ Search Intent ที่ผู้อ่านต้องการ
หัวใจสำคัญ จึงเป็นการประยุกต์ใช้เครื่องมือค้นหาแบบพวก Ubersuggest เพื่อสร้างเนื้อหาบทความดีๆ
- เลือกคำและข้อความที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
- ค้นหาข้อมูลประเภท คำถามที่คนนิยมค้นหา และคำตอบที่สัมพันธ์กัน
- สร้างเนื้อหาบทความ ที่ให้ข้อมูลตามที่คนค้นหา
การแทรกพวก Long Tail Keywords ควรทำด้วยความระมัดระวังขึ้น เพราะอาจโดนเข้าใจว่าพยายามย้ำคีย์เวิร์ดอยู่ เลือกใช้คีย์เวิร์ดอื่นที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกันจะดีกว่า
แนวคิดเรื่อง Semantic Search
Semantic search เป็นการหาในสิ่งที่สัมพันธ์กัน โดย Google มีการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ที่ค้นหา และบนเว็บต่างๆ ให้สอดคล้องกันทั้งหัวข้อ เนื้อหา ภาษา พยายามเลือกสิ่งที่คนอยากคลิกมากที่สุดให้เสมอ
สั้นๆ คือ Google เข้าใจเว็บไซต์ที่ไร้คุณภาพมากขึ้น ที่พยายามลงบทความที่ไม่สัมพันธ์กัน ย้ำคีย์เวิร์ด ให้มีอันดับน้อยกว่าเว็บที่ถูกใจคนค้นหามากกว่า
วิวัฒนาการของการค้นหา
ก่อนยุค Semantic SEO นักการตลาดสายคอนเทนต์ คงทราบกันดีว่า หนึ่งคอนเทนต์ต้องประกอบด้วย
- Title / H1 หัวข้อเรื่อง ความยาวประมาณ 60-75 คำ
- เนื้อหา (Body Text) ประมาณ 300-500 คำ หรือ 1,000 คำขึ้นไป
- Focus Keyword เฉลี่ยประมาณ 1 ครั้งทุกย่อหน้า หรือ ประมาณ 3-5 ครั้งในทุกๆ 500 คำ
- Meta Description ประโยคสั้นๆ ประมาณ 160 คำ เป็นข้อความที่ปรากฎบนเซิร์จเอนจิ้น
- รูปประกอบ 1-2 รูป ลดขนาดไม่ให้หน่วงเกินไป
เชื่อไหมครับว่า ปัจจุบัน คุณมีหัวข้อข้างบนไม่ครบ ก็ติดอันดับในคีย์เวิร์ดการแข่งขันสูงได้ … เพราะมันไม่สำคัญอีกแล้ว ปัจจัยอื่นมีผลมากกว่า โดยเฉพาะพวกที่เกี่ยวกับความรู้สึกของคนอ่าน
ย้อนไปสัก 10 ปีก่อน เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เหมือนภาคบังคับที่ต้องมี ไม่งั้นอดอันดับ เพราะ SERP สมัยนั้น ไม่ฉลาดนัก หาวิธีโกงไม่ยาก
ยกตัวอย่างง่ายๆ เมต้าคีย์เวิร์ด ที่เชื่อว่าบางคนก็ยังใส่กันอยู่ เผื่อเซิร์จเอนจิ้นตัวอื่นเห็น
- Meta Keywords คีย์เวิร์ดที่ต้องการเน้นในบทความ
เจ้าเมต้าคีย์เวิร์ดถูกเลิกใช้มานานมาก ด้วยเหตุผลที่ว่า “คนที่ใส่คีย์เวิร์ด ก็มีแต่นัก SEO เท่านั้นที่ยัดเข้าไป” ได้เปรียบคนเขียนบทความ บล็อกเกอร์ทั่วไป และนักเขียนทั่วไป ที่ไม่เคยสนใจช่องคีย์เวิร์ด หรือ ใส่ไปแบบงงๆ
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ลองจินตนาการดูนะครับ ถ้าคุณเป็นวิศวกร ที่สร้างระบบการค้นหาระดับโลก คุณจะเลือกบทความแบบไหนควรอยู่หน้าแรก ?
- บทความที่เขียนตามหลักสูตรเป๊ะ ต้องมี H1 ยาวพอดี, เนื้อหา 1000 คำ, คีย์เวิร์ดราวๆ 3%-6%, คำอธิบายเมต้า 160 คำพอดี, 1 รูป แต่กดเข้ามาอ่านแทบหลับ
- บทความที่เขียนดีมาก คนอ่านชอบ อ่านเพลิน แต่ผิดหลัก SEO หมดอย่าง H1 ยาว 100 คำ, รูปเยอะกว่า Text (ไม่ถึงกับโหลดโหด)
ย้อนไปยุคก่อนค.ศ. 2000 ทาง Google อยากให้ข้อ 2 ขึ้นมาอยู่อันดับ แต่ในทางปฏิบัติทำไม่ได้เพราะบอทกูเกิ้ลไม่ได้ฉลาดขนาดนั้น ต้องพึ่งพา Page Rank และการทำ Backlinks นำทางก่อน จนเริ่มมีการพัฒนาระบบ Machine Learning Algorithm ให้ฉลาดมากขึ้น และคงยิ่งกว่านี้ในยุค 5G
ปัจจุบัน บอทของ Google และเซิร์จเอนจิ้นส่วนใหญ่ ฉลาดจนเริ่มเข้าใจสิ่งที่เขียนมากขึ้น เรียนรู้พฤติกรรมคนอ่าน และสิ่งที่อยู่ในบทความมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการหาคำตอบสั้นๆ ได้ใจความมาก การปรับเนื้อหาในคอนเทนต์ให้ดูมีคุณค่า จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ในขณะที่พวก Off Page เป็นแค่ตัวเสริม
พวกสูตรเขียนบล็อก ประเภทหัวข้อตามคีย์เวิร์ด เขียน 300 คำ กับ 1 รูป ลืมๆ ไปเถอะครับ
พวกเขียนยาว น้ำท่วมทุ่ง ก็มีโอกาสอันดับร่วงได้ อย่างอัลกอริธึม BERT ที่ Google ปล่อยมาช่วงเดือน ตุลาคม 2019 ก็เริ่มส่งผลกระทบกับการเขียนยาวแบบไม่มีใจความ และประกาศมีผลกว่า 70 ประเทศ รวมถึงในประเทศไทยเมื่อ 9 ธันวาคมปีเดียวกัน ซึ่งสะท้อนถึงความฉลาดของระบบการอ่านที่เพิ่มขึ้น
ย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้น
Search Engine มีเพื่ออะไร ? ไม่ใช่เพื่อเขียนให้ติดอันดับ แต่เพื่อให้ “คนอ่านเจอสิ่งที่ค้นหา”
เหมือนที่สรุปไว้ใน เขียนบล็อกอย่างไร ให้มีคนเข้ามาอ่าน เป้าหมายการเขียนที่สำคัญที่สุด
- เข้าใจถึง “คำถาม” ที่คนนิยมค้นหา
- สร้าง “คำตอบที่ดีสุด” ให้คนที่กำลังค้นหา
เปรียบเทียบก็คล้ายกับ Demand / Supply ที่ได้ยินในวิชาเศรษฐศาสตร์ระดับมัธยมต้น ถ้าคู่แข่งเสนอสิ่งที่ดี เราต้องเสนอสิ่งที่ดียิ่งกว่าให้
Google ชอบความเป็นธรรมชาติ พัฒนาอัลกอริธึมหลายตัวที่พยายามเข้าใจภาษามนุษย์ บทความดีความติดอันดับ ไม่ชอบนัก SEO ที่มาป่วนอันดับ แต่ยังต้องพูดคุยกับเหล่าเซียนด้านดิจิตอล เพื่อให้ AI การค้นหาฉลาดกว่านี้ ถ้าวันหนึ่งเกิด AI ฉลาดมากจนแยกบทความที่เหมาะสมได้เป๊ะเกือบ 100% ก็มีความเสี่ยงตกงานสูง
เอาตรงๆ กูเกิ้ล ไม่ต้องการให้มีการปั่นอันดับเลย เพียงแต่วันนั้นยังมาไม่ถึง แค่ใกล้ถึงความจริงทุกขณะ
Is SEO Dead? ตอบได้เต็มที่ว่า No ที่ตายก่อน คือ คนที่ไม่มีการปรับตัว ตามยุคสมัย
การทำ Semantic SEO จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ชัดเจนหลังปี 2020 ซึ่งต่อให้วันที่การปั่นอันดับไม่มีอีกแล้ว มาถึง คุณจะยังอยู่ในวงการ Digital Marketing ได้ เพราะคุณเข้าใจสิ่งที่คนอื่นกำลังค้นหา เขียนบทความมีคุณภาพ เนื้อหาเป็นมิตรกับ AI สมกับเป็นนักการตลาดแบบมีคุณภาพที่สามารถเขียนสิ่งที่มีประโยชน์ให้คนอื่น สอนคนรุ่นใหม่ได้ ยังไงก็อยู่ในวงการได้อีกนานครับ